วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ธาตุเจ้าเรือน

ธาตุเจ้าเรือน คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

                    ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เชื่อว่า  การเกิดชีวิตใหม่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีพ่อมีแม่ที่มีลักษณะของหญิง - ชายครบถ้วน  หมายถึง  พ่อมมีลักษณะของชายครบและมีแม่มีลักษณะของหญิงครบ  โดยให้ความหมายของชีวิตไว้ว่า ชีวิตคือขันธ์ 5 อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
                    รูป  หมายถึง  รูปร่าง ร่างกาย หรือ สิ่งที่เป็นรูปธรรม  ซึ่งในพระไตรปิฎกได้อธิบายไว้ว่า รูปมีมหาภูตรูป 4 ได้แก่  ดิน น้ำ ลม ไฟ  และรูปที่เกิดจากมหาภูตรูป เรียกว่า อุปทายรูป ได้แก่  อากาศ และประสาททั้ง 5 ได้แก่  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิด รูป รส กลิ่น เสียง เป็นอาภรณ์ 4
                    เวทนา  ได้แก่  ความรู้สึกต่าง ๆ  ซึ่งเกิดจากประสาททั้งห้า เป็นต้น
                    สัญญา  ได้แก่  ความจำต่าง ๆ  การกำหนดรู้อาการ จำได้ หมายรู้
                    สังขาร  ได้แก่  การปรุงแต่งของจิต  ความคิดที่ผูกเป็นเรื่องราว ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าสังขาร คือ ร่างกาย เช่น มักพูดว่า "คนแก่ไม่เจียมสังขาาร" หมายถึง  ทำอะไรเกินกว่าร่างกายซึ่งชราจะรับได้ แท้จริงสังขารเป็นความนึกคิดก่อหรือผูกเป็นเรื่องราวนั่นเอง


                    วิญญาณ  คือ  ความรู้แจ้งของอารมณ์ เช่น วิญญาณนักต่อสู้ หมายถึง  เป็นผู้มีอารมณ์บากบั่นตั้งมั่น ต้องสู้สุดใจ ผู้มีวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตย หมายถึง  การมีอารมณ์ลึกซึ้ง ชัดแจ้ง จะทำอะไรก็อยู่ในอารมณ์ของนักประชาธิปไตย มีใจ ตั้งมั่นในสิทธิเสรีภาพ เป็นต้น คนทั่วไปคิดว่าวิญญาณคือผี เชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ววิญญาณออกจากร่างไปเป็นผี แท้จริงเมื่อตายไปแล้วก็หมดความรู้สึก ไม่มีอารมณ์อีกแล้วนั่นเองจะเห็นได้ว่า ชีวิตคือ ขันธ์ห้า ซึ่งคือร่างกายและจิตใจนั่นเอง มนุษย์ที่เกิดมมาต่างก็มีชีวิตแตกต่างกันไป มีความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึกความรู้แจ้งทางอารมณ์ หรือที่เรียกว่าวิญญาณที่แตกต่างกันไป ทางการแพทย์แผนปัจจุบันเชื่อว่าการที่มีความแตกต่างและความเหมือนกัน ถูกกำหนดโดยสารพันธุกรรมที่เรียกว่า "ดีเอ็นเอ" เป็นรหัสของชีวิตที่มนุษย์ได้รับการถ่ายทอดจากมารดาและบิดา เป็นลักษณะทั่ว ๆ ไปของมนุษย์  ทางการแพทย์แผนไทยมีความเชื่อในเรื่องธรรมชาติที่ว่า การเกิดรูปครั้งแรกในครรภ์มารดา มีขนาดเล็กมาก ขนาดเท่าหยดน้ำมันงาที่ติดอยู่ปลายขนจามจุรี หลังจากถูกสะบัดถึง 7 ครั้ง และด้วยอิทธิพลของธาตุไฟอ่อน จึงเกิดธาตุอื่น ๆ ตามมาจนครบธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วจึงเกิด เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จนครบขันธ์ห้า เมื่อครรภ์ครบ 5 เดือน นั่นคือชีวิตได้เกิดแล้ว และด้วยอิทธิพลธรรมชาติ ได้แก่ ความร้อน ความเย็นของภูมิอากาศตามฤดูกาลได้ทำให้ธาตุทั้ง 4 ของแต่ละคนแตกต่างกันไปและเริ่มมีอิทธิพลในครรภ์มารดา ดังพระคัมภีร์ปฐมจินดา กล่าวไว้ว่า เมื่อตั้งครรภ์ในฤดูใดให้เอาธาตุของฤดูนั้นเป็นที่ตั้งแห่งธาตุกำเนิดของกุมาร กุมารี นั้น เช่น
                    ตั้งครรภ์ในเดือน 5,6,7  เป็นลักษณะแห่งไฟ
                    ตั้งครรภ์ในเดือน 8,9,10  เป็นลักษณะแห่งลม
                    ตั้งครรภ์ในเดือน 11,12,1  เป็นลักษณะแห่งน้ำ
                    ตั้งครรภ์ในเดือน 2,3,4  เป็นลักษณะแห่งดิน
                    ซึ่งคือธาตุเจ้าเรือนนั่นเอง  แต่คนส่วนใหญ่มักจำได้เพียงแต่วันเกิด คำว่าตั้งครรภ์ในเดือนในเดือนใดหมายถึง การเริ่มมีครรภ์หรือมีการปฏิสนธิ ดังนั้น จากข้อสังเกตุของคนโบราณดังกล่าว ถ้านำอายุการตั้งครรภ์มาพิจารณาแล้วสามารถประมาณการได้ว่า
                     ผู้ที่เกิดเดือน 5,6,7 จะมีธาตุเป็นธาตุเจ้าเรือน
                     ผู้ที่เกิดเดือน 8,9,10  จะมีธาตุน้ำเป็นธาตุเจ้าเรือน
                     ผู้ที่เกิดเดือน 11,12,1  จะมีธาตุดินเป็นธาตุเจ้าเรือน
                     ผู้ที่เกิดเดือน 2,3,4  จะมีธาตุไฟเป้นธาตุเจ้าเรือน
                     การแบ่งแบบนี้เป็นการแบ่งแบบหยาบ  คือ  แบ่งบุคคลิกหรือลักษณะจำเพาะของคนออกเป็น 4 แบบ แต่ละแบบจะมีจุดอ่อนหรือลักษณะของธาตุเสียสมดุลแตกต่างกันตามธาตุเจ้าเรือนนั้น ๆ

ลักษณะเจ้าเรือนคืออะไร
                     องค์ประกอบของธาตุที่รวมกันอยู่อย่างปกตินั้น  จะมีธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งเด่นหรือมากกว่าอย่างหนึ่งเรียกว่า  เจ้าเรือน  ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยแต่ละธาตุหลักทั้ง 4 จะมีลักษณะที่แสดงออกเป็นเจ้าเรือน ดังนี้
                    1.  ธาตุดินเจ้าเรือน  จะมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวค่อนข้างคล้ำ ผมดกดำ พูดเสียงดังฟังชัด ข้อกระดูกแข็งแรง กระดูกใหญ่ น้ำหนักตัวมาก ล่ำสัน อวัยวะสมบูรณ์
                    2.  ธาตุน้ำเจ้าเรือน  จะมีรูปร่างสมบูรณ์ อวัยวะสมบูรณ์ สมส่วน ผิวพรรณสดใสเต่งตึง ตาหวาน น้ำในตามาก ท่าทางเดินมั่นคง ผมดกดำงาม กินช้า ทำอะไรชักช้า ทนหิว ทนร้อน ทนเย็นได้ดี เสียงโปร่ง มีลูกดก หรือมีความรู้สึกทาเพศดี แต่มักเฉื่อย และค่อนข้างเกียจคร้าน
                    3.  ธาตุลมเจ้าเรือน  จะมีผิวหนังหยาบแห้ง รูปร่างโปร่ง ผม ผมบาง ข้อกระดูกลั่นเมื่อเคลื่อนไหว ขี้อิจฉา ขี้ขลาด รักง่าย หน่ายเร็ว ทนหนาวไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ ช่างพูด เสียงต่ำ ออกเสียงไม่ชัด มีลูกไม่ดก คือ ความรู้สึกทางเพศไม่ค่อยดี
                    4.  ธาตุไฟเจ้าเรือน  มักขี้ร้อน ทนร้อนไม่ค่อยได้ หิวบ่อย กินเก่ง ผมหงอกเร็ว มักหัวล้าน หนังย่ย ผม ขน หนวดค่อนข้างนิ่ม ไม่ค่อยอดทน ใจร้อน ข้อกระดูกหลวม มีกลิ่นปาก กลิ่นตัวแรง ความต้องการทางเพศปานกลาง

สถานที่ (ถิ่นที่อยู่อาศัย)
                    ที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อมเรียกว่าประเทศสมุฎฐาน ย่อมมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพ ได้แก่
                    ประเทศร้อน
                    สถานที่ที่เป็นภูขาสูง เนินผา มักเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ เช่น คนภาคเหนือ มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับ ไข้ต่าง ๆ
                    ประเทศเย็น
                    สถานที่ที่เป็นฝน โคลนตม มีฝนตกชุก มักเจ็บป่วยด้วยธาตุลม เช่น คนภาคกลาง มักเจ้บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับลมต่าง ๆ
                    ประเทศอุ่น
                    สถานที่ที่เป็นน้ำฝน กรวดทราย เป็นที่เก็บน้ำไม่อยู่มักเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ เช่น คนภาคอีสาน มักเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับนิ่ว
                    ประเทศหนาว
                    สถานที่ที่เป็นน้ำเค็ม มีโคลนตม ชื้นแฉะ ได้แก่ ชายทะเล มักเจ็บป่วยด้วยธาตุดิน เช่น ภาคใต้ มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับฝี

การวินิจฉัย
                   นำอาการที่ได้จากการบอกเล่าและตรวจพบมาประมวล จะสามารถบอกถึงสภาวะสุขภาพของผู้ป่วย  โดยยึดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับตัวสุขภาพหรือตัวควบคุมธาตุทั้งสี่ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

ธาตุดิน อาหารรสฝาด หวาน มัน เค็ม

อาหารประจำธาตุดิน
                   ควรรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีรส ฝาด หวาน มัน เค็ม ตัวอย่างได้แก่ มังคุด ฝรั่งดิบ ฟักทอง เผือก ถั่วต่าง ๆ เงาะ น้ำนม น้ำอ้อย เกลือ ฯลฯ
                   ธาตุดิน  มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
                   หทัยวัตถุ  มีที่ตั้งที่หัวใจ ควบคุมความสมบูรณ์ของหัวใจ เช่น ลักษณะ ขนาด การทำงาน การเต้น ความสมบูรณืของกล้ามเนื้อหัวใจ บางตำรากล่าวว่าหทัยวัตถุเป็นที่ตั้งของจิต
                   อุทริยะ  หมายถึง  อาหารใหม่  คือ  อาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่ ๆ  นั่นเอง  การซักประวัติการกินอาหาร ก่อนป่วยมีความจำเป็นมากเพราะอาหาร คือ ธาตุภายนอกที่เรานำเข้าไปบำรุงหรือปรับธาตุภายใน เรื่องอาหารจึงสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนใด โรคทางแผนโบราณจึงมีเรื่องเกี่ยวกับการกินที่เรียกว่า "กินผิด" คือ กินไม่ถูกกับธาตุจะเจ็บป่วย กินไม่ถูกกับโรคทำให้อาการแย่ลง ดังนั้น  การแพทย์แผนไทย ใช้วิธีการกินสมุนไพร อาหารสมุนไพร มาแก้ไขการเสียสมดุลนี้ เป็นการลองผิดลองถูกมายาวนาน จนสรุปเป็นหลักการและเหตุผลได้ในปัจจุบัน
                    กรีสัง  หมาายถึง  อาหารเก่า  คือ  กากอาหารในลำไส้ใหญ่ ที่จะออกมาเป็นอุจจาระนั่นเอง ลักษณะของอุจจาระเป็นตัวบ่งบอกสุขภาพ อุจจาระหยาบละเอียด ก้อนแข็งหรือเหลว กลิ่นอุจจาระเป็นเช่นไร  เช่น เหมือนปลาเน่า ธาตุน้ำเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนหญ้าเน่า ธาตุไฟเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนข้าวบูด ธาตุลมเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนศพเน่า ธาตุดินเป็นเหตุ เป็นต้น
                   โบราณว่าไว้สุขภาพจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับกรีสัง (อุจจาระหรืออาหารเน่า) เป็นตัวควบคุม
ธาตุน้ำ อาหารรสเปรี้ยว

อาหารประจำธาตุน้ำ
                   ควรรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีรสเปรี้ยว  ตัวอย่างได้แก่ มะกรูด มะนาว ส้ม สับปะรด มะเขือเทศ มะกอก มะดัน ฯลฯ
                   ธาตุน้ำ  มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
                   ศอเสมหะ  ควบคุมน้ำบริเวณคอขึ้นไป เกี่ยวกับเสมหะ น้ำมูกมีหรือไม่อย่างไร มีมากเวลาใด อาจหมายถึงการทำงานของต่อมต่าง ๆ ที่ผลิตน้ำเมือกน้ำมูกบริเวณดังกล่าว
                   อุระเสมหะ  ควบคุมน้ำบริเวณเหนืออก กลางตัวจากคอมาถึงบริเวณลิ้นปี่ เหนือสะดือ การซักถามจะต้องถามถึงการไอ เสมหะเป็นอย่างไร การหอบ การอาเจียน น้ำที่ออกมาเป็นอย่างไร การปวดท้องเกี่ยวกับน้ำย่อยในกระเพาะ  อาจจะหมายถึงการทำงานของต่อมน้ำมูก เมือกในปอด หลอดลม น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร น้ำดี น้ำย่อยในลำไส้เล็ก
                   คูถเสมหะ  การควบคุมน้ำช่วงล่างจากสะดือลงไป อาจเป็นน้ำมูก เมือกน้ำในลำไส้ น้ำในอุจจาระ น้ำปัสสาวะ น้ำในมดลูก ช่องคลอด (ถ้าเป็นหญิง) และน้ำอสุจิ (ถ้าเป็นชาย) จึงต้องซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น การถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ ลักษณะเหลวหรือแข็ง มีน้ำมากน้อยเพียงใด ผิดปกติอย่างไร
ธาตุลม อาหารรสเผ็ดร้อน

อาหารประจำธาตุลม
                    ควรรับประทานผัก ผลไม้และอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน ตัวอย่างได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย โหระพา กะเพรา ฯลฯ
                    ธาตุลม  มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
                    หทัยวาตะ  ลมที่ควบคุมอารมณ์ จิตใจ การเต้นของหัวใจ ความหวั่นไหว ความกังวล
                    สัตถกะวาตะ   ลมที่คมเหมือนอาวุธ  หมายถึง  เมื่อเกิดอาการจะมีอาการฉับพลัน เจ็บปวดลึก ๆ เหมือนดังอาวุธเสียบแทง จากลักษณะดังกล่าว อาการจะคล้ายกับภาวะขาดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรืออวัยวะใด ๆ  ขาดเลือดจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรง
                    สุมนาวาตะ  ลมที่ควบคุมพลังที่อยู่แนวเส้นกลางลำตัวตามแนวดิ่ง ในตำราการนวดไทย เส้นสุมนา ถูกจัดเป็นเส้นสำคัญในเส้นสิบเส้นนี้จะวิ่งกลางลำตัวจรดปลายลิ้น จึงน่าจะเป็นตัวควบคุมระบบประสาท การไหลเวียนโลหิต สมอง ไขสันหลัง ระบบอัติโนมัติต่าง ๆ การซักถามอาการควรถามเกี่ยวกับการทำงานของแขนขา การปวดเจ็บหลัง การซักการกระตุก ตำราโบราณกล่าวว่าอาการลิ้นกระด้างคางแข็ง เกิดจากสุมนาแสดงว่่าน่าจะเกี่ยวกับสมอง ประสาท
ธาตุไฟ อาหารรสขม เย็น จืด

อาหารประจำธาตุไฟ
                    ควรรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีรสขม เย็น จืด ตัวอย่างได้แก่ ผักบุ้ง ตำลึง แตงโม บัวบก ฟักข้าว สะเดา มะระ ขี้เหล็ก ฯลฯ
                    ธาตุไฟ  มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
                    พัทธปิตตะ  คือ  ดีในฝัก บางท่านอาจสับสนว่าน้ำดี คือ ธาตุน้ำ เหตุใดจึงจัดเป็นไฟ ผู้เขียนเข้าใจว่าพัทธปิตตะในที่นี้ คือการควบคุมการทำงานของน้ำดีและการย่อยสลาย จากการทำงานของน้ำดี ส่วนน้ำดีจัดเป็นธาตุน้ำ อาการบ่งบอก การทำงานที่ผิดปกติไป จึงน่าจะหมายถึงการปวดท้อง น้ำดีอุดตัน ภาวะการผลิตน้ำดีและตับผิดปกติ ตับอักเสบ เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดถุงน้ำดีอักเสบเป็นนิ่ว เป็นต้น เป็นเรื่องที่ควบคุมการทำงานของธาตุน้ำเป็นอาหาร บ่งบอกถึงการทำงานที่ิผิดปกติไป จึงน่าจะหมายถึงการปวดท้อง น้ำดีอุดตัน การทำงานของน้ำดีในตับและถุงน้ำดีที่เรียกว่าดีในฝักนั่นเอง ดีในฝักพิการ จะมีอาการค้มคลั่งเหมือนผีเข้า ถ่ายเป็นสีเขียว
                    อพัทธปิตตะ  ดีนอกฝัก  หมาายถึง  การทำงานของน้ำดีในลำไส้ การย่อยอาหาร อาการคือจุกเสียด อืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ดีนอกฝักพิการ จะทำให้เหลืองทั้งตัว
                    กำเดา  องค์แห่งความร้อน เป็นตัวควบคุมความร้อน ในร่างกายน่าจะหมายถึงศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายนั่นเอง การตรวจสามารถดูที่อาการไข้ว่าตัวร้อนจัดหรือไม่เพียงใด
                                                           ขอขอบคุณ
                                                                      ที่มา : การแพทย์แผนไทยกับการดูแลสุขภาพ
               








                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น