วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

บัวบก

ใบบัวบกของดี มีสรรพคุณมาก
              เมื่อเอ่ยถึงบัวบกมักจะนึกถึงคนอกหักที่มีความรู้สึกช้ำลึก ๆ  อยู่ในใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สงสัยและค้างคาใจตลอดว่าบัวบกมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร เมื่อได้มาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ  และถามผู้มีความรู้เรื่องบัวบกพบว่านอกจากจะรับประทานสด ๆ  ตามความนิยมของผักพื้นบ้านแล้ว ยังมีสรรพคุณในทางยาอีกด้วย และสิ่งหนึ่งที่คิดว่าทุกคนต้องจำได้พูดกันติดปากคือ รับประทานบัวบกแก้ช้ำใน

ชื่อสามัญ : gotu kola

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centella asiatica (Linn.)

ชื่อวงศ์ : Umbelliferae

ชื่ออื่น : Asiatic Pennywort, ผักแว่น(ใต้), ผักหนอก(เหนือ), บะหนะเอขาเด๊าะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
                เป็นพืชล้มลุก ซึ่งในเขตร้อนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีถือเป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่มีอายุหลายปี ปลูกง่ายเลื้อยยาวไปตามพื้นดิน แตกรากตามข้อใบเดี่ยวออกเป็นกระจุก ตามข้อใบเป็นรูไต ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอกเดี่ยว หรือเป็นช่อเล็ก ๆ ประมาณ 3-4 ดอก ผลแบน บัวบกชอบในพื้นที่ชื้นแต่ไม่แฉะมากหรือน้ำท่วมขัง โดยมากจะขึ้นตามใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือท้องร่องในสวนและตามคันนา ขยายพันธ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตัดแยกไหลที่มีต้นอ่อนและรากนำไปปลูกในที่ที่มีแสงแดดพอควรก็จะเจริญเติบโตได้ดี

ประโยชน์ของบัวบก
               เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยนิยมรับประทานบัวบกกันสด ๆ  จะเป็นเครื่องเคียงกับส้มตำ ซุปหน่อไม้ หรือกับน้ำพริก หมี่กรอบ และก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ก็จะช่วยเพิ่มรสชาติและคุณค่าทางอาหารให้มากขึ้น น้ำคั้นจากใบบัวบกที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป โดยเฉพาะแถวเยาวราชซึ่งเป็นแหล่งขายของดั่งเดิมมากมายในตำราไทยได้ระบุว่า บัวบกมีสรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจช่วยลดอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ขับปัสสาวะ โดยเฉพาะแก้ช้ำในอันเนื่องมากจากโดนกระแทก หรือตกจากที่สูง มีอาการเจ็บภายในลำตัว เชื่อว่าบัวบกช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ทำให้เลือดมีการไหลเวียนได้มากขึ้น
              วิธีใช้ที่ทำได้ง่าย คือ ใบบัวบก 1 กำมือ หรือ 1 แก้ว นำใบบัวบกใส่แก้วพอแน่นตำหรือปั่นให้ละเอียด เติมน้ำ 1 แก้วคนให้เข้ากันแล้วกรองเอาแต่น้ำ เติมน้ำตาลหรือเกลือ รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร อาจใช้เวลา 3-7 วัน แต่อย่ารับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหรือปริมาณมากจนเกินไป เพราะฤทธิ์ความเย็นของบัวบก อาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้ ส่วนกากที่เหลือยังนำมาพอกแผลรอยฟกช้ำได้อีกด้วย แต่ ดร.เที่ยง บูรณธรรม ได้เขียนสรรพคุณบัวบกไว้ใน "พจนานุกรมสมุนไพรไทย" ว่าบัวบกรับประทานสด ๆ  จะได้ผลดีกว่าน้ำใบบัวบก เพราะสามารถแก้ช้ำในได้มากกว่า
               นอกจากนั้นแล้วคนไทยยังนิยม รับประทานบัวบกเป็นอายุวัฒนะและแก้ปัญหาฤทธิ์เย็นของยาโดยการผสมพริกไทย 1 ส่วน และผงใบบัวบก 2 ส่วน รับประทานครั้งละครึ่งช้อนชาก่อนนอน และมีคำกล่าวตามตำราว่า "รับประทาน 1 เดือนโรคร้ายหายสิ้นมีปัญญา รับประทาน 2 เดือน บริบูรณ์น่ารัก มีเสน่ห์ รับประทาน 3 เดือน ริดสีดวงสิบจำพวกหายสิ้น รับประทาน 4 เดือนลมสิบจำพวกหายหมด รับประทาน 5 เดือนโรคร้ายในกายทุเลา รับประทาน 6 เดือน ไม่รู้จักเมื่อยขบ รับประทาน 7 เดือน ผิวกายจะสวยงาม รับประทาน 8 เดือน ร่างกายสมบูรณ์เสียงเพราะ"
               จะเห็นได้ว่าผู้แต่งตำราเขาบรรยายสรรพคุณต่าง ๆ  เสียเลิศเลอเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนหันมากินบัวบกกับพริกไทยเป็นยาอายุวัฒนะและคนไทย ยังมีความเชื่อว่าบัวบกช่วยเพิ่มความจำด้วย อาจจะเป็นไปได้เพราะบัวบกช่วยการไหลเวียนของเลือดและเพิ่มพลังงานแก่เซลล์ (Bio-energizing) จึงทำให้ความจำดีขึ้น และท่านที่มีผู้สูงอายุความจำเลอะเลือนก็น่าจะลองดูสูตรยาบำรุงแบบไทยสูตรนี้ เพราะสามารถทำได้ง่าย แต่อย่าตากใบบัวบกเวลามีแดดจัด เพราะทำให้สารบางตัวระเหยไป
               ส่วนในทางเครื่องสำอางค์ก็ถือว่าบัวบกเป็น Magic herb หรือเป็นสมุนไพรมหัศจรรย์ทีเดียวเพราะมีสรรพคุณเพิ่มพลังงานแก่เซลล์ (Bio-energizing) กระตุ้นการสร้าง collagen และ elastin อันจะช่วยรักษาแผลและรอยเหี่ยวย่น ลดการอักเสบ สาวที่กลัวแก่เกินวัยก็ลองใช้น้ำคั้นจากใบบัวบกทาหน้า หรือแพคหน้า (คือเอาผ้าก๊อชหรือสำลีชุบน้ำคั้น ใบบัวบกและทิ้งไว้สักครู่) ทำเป็นประจำใช้แทนโลชั่นบำรุงผิว ทั้งยังเชื่อว่าน้ำใบบัวบกช่วยลดอาการหน้ามัน หรือแม้แต่อาการบวมแดงเป็นปื้น (orange peel-like) น้ำคั้นจากใบบัวบกก็ใช้ได้เช่นกัน ยังมีรายงานว่าสารสกัด 50% เอธานอล มีฤทธิ์กระตุ้นในการงอกของผมในคนศรีษะล้าน โดยใช้น้ำคั้นจากใบบัวบกทาตรงที่ล้านบ่อย ๆ  หรือถ้าไม่มีเวลาในการทำก็อาจจะใช้ แบบเจลใบบัวบกสำเร็จรูปก็ได้ เพราะในประเทศไทยก็มีบริษัทที่สามารถผลิตเจลสำเร็จรูปออกมาจำหน่ายแล้ว แต่คงต้องดูที่ได้มาตราฐานผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยา เพื่อความปลอดภัยในการใช้
               ค.ศ.1975 มีนักวิจัยทางจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Brigham Young ในอเมริกาได้ทำวิจัยโดยผสมบัวบกเข้ากับโสมและพืชในตระกูลพริกไทย ทดลองทำในหนู และผลปรากฏว่าพืชธรรมดา ๆ  อย่างบัวบกบ้านเรากลับมีผลต่อพฤติกรรม ของสัตว์ที่มึนงงและเครียด ทำให้บริษัทสมุนไพรใหญ่ ๆ  ในอเมริกาพากันผลิตสารสกัดเพื่อพลังงาน (energy tonic) จากบัวบกออกมามากมาย
ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์
               อย่างไรก็ตาม ข้อมูลด้านเคมีพอสรุปได้ว่า "สารเคมีที่พบใบบัวบกมีหลายกลุ่มแต่กลุ่มที่ค่อนข้างมีความสำคัญและเป็นที่สนใจของบรรดานักวิทยาศาสตร์เป็นสารในกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ (terpenolds) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกไตรเทอร์ปีน (triterpenes) ซึ่งอยู่ในรูปของกลัยโคไซด์ เช่น เอเซียติโคไซด์ (asiaticoside) บราห์โมไซด์ (brahmoside) บราห์มิโนไซด์ (bramminoside) เป็นต้น
               จากรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของบัวบก พบฤทธิ์ที่น่าสนใจหลายประการเช่น ใช้ในการสมานแผล แก้บิด ต้านไวรัส รักษาโรคเรื้อน ฆ่าแมลง ยับยั้งการอักเสบ กระตุ้นการงอกของผม แก้ปวด คลายกล้ามเนื้อเรียบ มีฤทธิ์ต่อประสาทช่วยเพิ่มความจำ ต้านมะเร็งและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
               ในขณะเดียวกัน ผงบัวบกแห้งทำให้เกิดอาการแพ้และเกิดการอักเสบ เมื่อสัมผัสผิวหนัง นอกจากนั้นน้ำคั้นจากใบบัวบกที่พบสารต่าง ๆ  ยังเป็นพิษต่อเซลล์ และการก่อกลายพันธุ์ ถึงแม้นว่าจะไม่มีรายงานการใช้กับสัตว์ทดลองที่ให้ในปริมาณสูงก็ตาม และการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ  ควรต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย
               ต่อมา พ.ศ.2525 คณาจารย์ในคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลได้ผลิตครีมใบบัวบกสำเร็จ และตีพิมพ์ในสารศิริราชปี 1988 ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างและกระตุ้นกล้ามเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายเนื่องจากการผ่าตัดบาดแผลจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเป็นต่าง ๆ  และแผลเปื่อยจากหลอดเลือดหดตัวได้ทดลองกับผู้ป่วยในของภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี 14 ราย ซึ่งใช้เวลา 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน มีผลเห็นได้ชัดว่าครีมใบบัวบกใช้ได้ดีใน แผลหลังผ่าตัดที่มีการอักเสบและแผลแยก  นอกจากนั้นยานี้ไม่ทำการระคายเคืองแก่แผล ไม่มีกลิ่น ใช้ง่ายปลอดภัย แต่มีข้อเสียคือ สีของยาเป็นสีเขียวอ่อนดูคล้ายหนอง
              สำหรับการนำบัวบกมาใช้เพื่อหวังผลในการลดไขมันหรือลดความอ้วน ไม่ว่าจะเป็นชนิดรับประทาน หรือทาภายนอกตามที่มีผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ  ขายกันอยู่นั้นหากเราหัมาวิเคราะห์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะสนับสนุน สรรพคุณตามที่ได้กล่าวอ้าง จะเห็นว่ายังไม่มีรายงานวิจับฉบับใดมารองรับสรรพคุณดังกล่าว ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าโดยอาศัยจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบการตัดสินใจ
ขอขอบคุณ   ที่มา :  สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
                            ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม 2543           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น