วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ฟ้าทะลายโจร

                    ฟ้าทะลายโจร ยาที่มีความหมายในตัวเองไม่น้อย  เพราะแม้แต่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าฟ้าประทานมาให้ปราบโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ  ซึ่งเปรียบเสมือนเหล่าโจรร้าย  ส่วนในภาษาจีนกลาง  ยาตัวนี้มีชื่ออย่างเพราะพริ้งว่า  "ชวนซิเหลียน"  แปลว่า  "ดอกบัวอยู่ในหัวใจ"  ซึ่งมีความหมายสูงส่งมาก วงการแพทย์จีนได้ยกฟ้าทะลายโจรขึ้นทำเนียบเป็นยาตำราหลวงที่มีสรรพคุณโดดเด่นมากตัวหนึ่ง  ที่สำคัญ คือ  สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวเพียงตัวเดียวก็มีฤทธิ์แรงพอที่จะรักษาโรคได้  ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในสมุนไพรตัวอื่น

                     ในประเทศจีนนั้น  ใช้ในการแก้ฝี  แก้อักเสบ  และรักษาโรคบิด  การวิจัยด้านเภสัชวิทยาพบว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเป็นหนองได้  และมีการศึกษาวิจัยของโรงพยาบาลบำราศนราดูร  ถึงฤทธิ์ในการรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิด  แบคทีเรีย  เปรียบเทียบกับ เตตราซัยคลิน  ในผู้ป่วย  ๒๐๐  ราย  อายุระหว่าง  ๑๖-๕๕  ปี  ได้มีการเปรียบเทียบระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระเหลว  จำนวนอุจจาระเหลว  น้ำเกลือที่ให้ทดแทนระหว่างฟ้าทะลายโจรกับเตตราซันคลิน  พบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจร  ลดจำนวนอุจจาระร่วงและจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนอย่างน่าพอใจ  แม้ว่าจากการทดสอบทางสถิติจะไม่มีความแตกต่างโดยในสำคัญก็ตาม   ส่วนการลดเชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระ ฟ้าทะลายโจร  ไม่ได้ผลดีเท่าเตตราซัยคลิน     นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง    ได้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาอาการเจ็บคอได้ผลดีอีกด้วย  มีฤทธิ์เช่นเดียวกับเพ็นนิซิลินเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน  เท่ากับเป็นการช่วยให้มีผู้สนใจทดลองใช้ยานี้รักษาโรคต่าง ๆ  มากขึ้น
                    สำหรับความโดดเด่นของฟ้าทะลายโจรนั้น   มีสารสำคัญในการรักษาโรค  คือ     สารแอนโดรแกรโฟไลด์ (Andrographpolide)  ซึ่งทางวงการแพทย์จีนกำหนดว่ามี  ๑.๕   เปอร์เซ็นต์  ก็ใช้เป็นยาได้แล้ว  และเป็นที่น่ายินดีที่ใบฟ้าทะลายโจรในเมืองไทยมีสารสำคัญตัวนี้ถึง  ๑.๗   เปอร์เซ็นต์  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยาตัวใหม่แล้ว  ฟ้าทะลายโจรจัดอยู่ในจำพวกยาปฏิชีวนะ  เช่น  เพนนิซิลลินและเตตราซัยคลิน  ซึ่งเป็น  ยาแผนปัจจุบันครอบจักรวาลเลยทีเดียว  แต่ปลอดภัยกว่า  เพราะไม่มีพิษต่อตับ  และไม่ตกค้างในร่างกาย  ซ้ำยังมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางอย่างดีกว่ายาแผนปัจจุบันเสียอีก  จึงนับได้ว่าฟ้าทะลายโจรเป็นยาครอบคลุมได้กว้างขวางเหมาะสำหรับเป็นยาสามัญประจำบ้านแบบไทย ๆ ได้อย่างดียิ่ง



ฟ้าทะลายโจร ใบเขียวเข้มเป็นมัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ :    Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees

ชื่อสามัญ :    Kariyat , The Creat

วงศ์ :   ACANTHACEAE

ชื่ออื่น :  หญ้ากันงู(สงขลา) น้ำลายพังพอน,ฟ้าละลายโจร(กรุงเทพฯ) ฟ้าสาง(พนัสนิคม)                                 เขยตายยายคลุม (โพธาราม)สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง ๓๐-๗๐ ซม. ทุกส่วนมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดอกย่อย กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก ๒ ปาก ปากบนมี ๓ กลีบ มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่ ปากล่างมี ๒ กลีบ ผล เป็นฝัก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้ :  ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ใบจะเก็บมาใช้เมื่อต้นมีอายุได้ ๓-๕ เดือน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
            ใบฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม  Lactone  คือ   สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide)   สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide)   14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)

สรรพคุณ
            แก้ไข้ทั่ว ๆ ไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
            ระงับอาการอักเสบ  พวกไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนังฝี
            แก้ติดเชื้อ พวกทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด และแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ
            เป็นยาขมเจริญอาหาร        

วิธีและปริมาณที่ใช้
            ๑.  ถ้าใช้แก้ไข้เป็นหวัด ปวดหัวตัวร้อน
               ใช้ใบและกิ่ง  ๑  กำมือ (แห้งหนัก ๓ กรัม  สดหนัก ๒๕ กรัม)     ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ ๒  ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ
            ๒.  ถ้าใช้แก้ท้องเสีย ท้องเดิน เป็นบิดมีไข้
               ใช้ทั้งต้นหรือส่วนทั้ง  ๕  ของฟ้าทะลายโจร ผึ่งลมให้แห้ง  หั่นชิ้นเล็ก ๆ  ประมาณ ๑ กำมือ
(หนักประมาณ ๓-๙ กรัม)  ต้มเอาน้ำดื่มตลอดวัน

ตำรับยาและวิธีใช้
          ๑.  ยาชงมีวิธีทำดังนี้
               -  เอาใบสดหรือแห้งก็ได้ ประมาณ ๕-๗ ใบ แต่ใบสดจะดีกว่า
               -  เติมน้ำเดือดลงจนเกือบเต็มแก้ว
               -  ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง  หรือพอยาอุ่น  แล้วรินเอามาดื่ม  ขนาดรับประทาน
ครั้งละ ๑ แก้ว  วันละ ๓-๔ ครั้ง  ก่อนอาหาร, ก่อนนอน
          ๒.  ยาเม็ด (ลูกกลอน) มีวิธีทำดังนี้
               -  เด็ดใบสดมาล้างให้สะอาดผึ่งในที่ร่ม  ห้ามตากแดด  ควรผึ่งในที่มีลมโกรก  ใบจะได้
แห้งเร็ว
               -  บดเป็นผงให้ละเอียด
               -  ปั้นกับน้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม เป็นเม็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง (หนัก ๒๕๐ มิลลิกรัม)
แล้วผึ่งลมให้แห้ง  เพราะถ้าปั้นรับประทานขณะที่ยังเปียกอยู่จะขมมาก  ขนาดรับประทานครั้งละ  ๔-๑๐  เม็ด  วันละ ๓-๔ ครั้ง  ก่อนอาหาร, ก่อนนอน
          ๓.  แค๊ปซูล มีวิธีทำคือ
               แทนที่ผงยาที่ได้จะปั้นเป็นยาเม็ด กลับเอามาใส่ในแค๊ปซูล เพื่อช่วยกลบรสขมของยา แค๊ปซูล ที่ใช้ ขนาดเบอร์ ๒ (ผงยา ๒๕๐ มิลลิกรัม) ขนาดรับประทานครั้งละ ๓-๕ แค๊ปซูล วันละ ๓-๔ ครั้ง ก่อนอาหาร ก่อนนอน
ฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล

          ๔.  ยาทิงเจอร์หรือยาดองเหล้า
               เอาผงแห้งใส่ขวด  แช่สุราที่แรง ๆ  เช่น  สุราโรง  ๔๐  ดีกรี  ถ้ามี  alcohol  ที่รับประทานได้ (Ethyl alcohol)  จะดีกว่าเหล้า  แช่พอให้ท่วมยาขึ้นมาเล็กน้อย  ปิดฝาให้แน่น  เขย่าขวดวันละ  ๑  ครั้ง พอครบ  ๗  วัน  จึงกรองเอาแต่น้ำ  เก็บไว้ในขวดให้สะอาดปิดสนิท  รับประทานครั้งละ   ๑-๒  ช้อนโต๊ะ (รสขมมาก) วันละ  ๓-๔  ครั้ง  ก่อนอาหาร
          ๕.  ยาผงใช้สูดดม
               คือ  เอายาผงที่บดละเอียด  มาใส่ขวดหรือกล่องยา  ปิดฝาเขย่าแล้วเปิดฝาออก  ผงยาจะเป็นควันลอยออกมา  สูดดมควันนั้นเข้าไป  ผงยาจะติดที่คอทำให้ยาไปออกฤทธิ์ที่คอโดยตรง  ช่วยลดเสมหะ และแก้เจ็บคอได้ดี  วิธีที่ดีกว่านี้คือวิธีเป่าคอ  กวาดคอ  หรือรับประทานยาชง ตรงที่คอจะรู้สึกขมน้อยมาก ไม่ทำให้ขยาดเวลาใช้  ใช้สะดวกและง่ายมาก  ประโยชน์ที่น่าจะได้รับเพิ่มก็  คือ  ผงยาที่เข้าไปทางจมูก อาจจะช่วยลดน้ำมูก  และช่วยฆ่าเชื้อที่จมูกด้วย
               ขนาดที่ใช้
               สูดดมบ่อย ๆ  วันละหลาย ๆ  ครั้ง  ถ้ารู้สึกคลื่นไส้ให้หยุดยาไปสักพัก  จนความรู้สึกนั้นหายไป  จึงค่อยสูดใหม่

ข้อควรรู้เกี่ยวกับตำรับยา
               สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide)  สารในต้นฟ้าทะลายโจร ละลายในแอลกอฮอร์ได้ดีมาก  ละลายในน้ำได้น้อย  ดังนั้นยาทิงเจอร์  หรือยาดองเหล้าฟ้าทะลายโจร  จึงมีฤทธิ์แรงที่สุด  ยาชงมีฤทธิ์แรงรองลงมา ยาเม็ดมีฤทธิ์อ่อนที่สุด

ข้อควรระวัง
               บางคนรับประทาน  ยาฟ้าทะลายโจร จะเกิดอาการปวดท้อง  ท้องเสีย  ปวดเอว  เวียนหัว แสดงว่าแพ้ยา  ให้หยุดยา  และเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น  หรือลดขนาดรับประทานลง
               อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างกว้างขวางและแม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะดูเหมือนจะมีพิษน้อย  แต่เนื่องจากเป็นยาเย็นจัด  การกินฟ้าทะลายโจรรักษาโรคนาน ๆ   ติดต่อกันหลายปีอาจจะเกิดอาการข้างเคียงได้  เช่น  มีอาการท้องอืด  อาหารไม่ย่อย  แขนขาไม่มีแรง  เป็นต้น  แต่ถ้ากินวันละ   ๑-๒  เม็ด  เป็นยาอายุวัฒนะสามารถกินได้เรื่อย ๆ  ไม่มีพิษอะไร
                    จากประสบการณ์ของผู้ใช้ มีข้อสังเกตว่าผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร เพราะยาฟ้าทะเลาโจรตัวนี้เป็นยาที่มีสรรพคุณในการลดความดันอยู่แล้ว   ถ้าหากผู้ที่เป็นโรคความดันต่ำ และมาใช้ฟ้าทะลายโจรจะทำให้เกิดอาการหน้ามืด  วิงเวียน  มึนงง  วิธีแก้คือหยุดยาทันที  ภายใน  ๓-๔ ชั่วโมง  อาการจะดีขึ้น  เพราะตัวยาสามารถถูกขับออกไปไม่มียาตกค้างในร่างกาย
                    ฟ้าทะลายโจรที่เหมาะสำหรับ  "หวัด ร้อน"  คือ อาการที่เหงื่อออก  เจ็บคอ  กระหายน้ำ ท้องผูก  ปัสสาวะมีสีเข้ม  แต่ฟ้าทะลายโจร จะไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการของ  "หวัดเย็น"  คือ  ไม่มีเหงื่อ อุ้งมืออุ้งเท้าเย็น  ปัสสาวะมาก  รู้สึกหนาวสะท้าน  ถ้าเป็นหวัดเย็น แล้วกินฟ้าทะลาโจรอาการ จะกำเริบขึ้นได้ เช่น หนาวสั่น คลื่นไส้ ดังนั้นก่อนที่จะกินฟ้าทะลายโจรแก้ไข้   จึงควรพิจารณาในเรื่องเหล่านี้ด้วย

                   ดังนั้น  หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มที่จะสนใจสมุนไพรสารพัดประโยชน์ตัวนี้  เขามีเคล็ดลับในการกินยาฟ้าทะลายโจรให้ ได้ผลดี  ดีซึ่งเคล็ดลับนั้นมีอยู่ว่า  จะต้องกินตอนเริ่มมีการอาการเป็นไข้ เจ็บคอ  และท้องเสีย  โดยกินครั้งละ  ๕  เม็ดขึ้นไป  แต่ถ้ามีอาการมากให้กินได้ถึงครั้งละ  ๑๐  เม็ด    วันละ  ๓-๔  เวลา  ก่อนอาหาร  ถ้ากินเป็นยาขมเจริญอาหาร  แก้ธาตุพิการ  อาหารไม่ย่อย   ใช้ขนาดตั้งแต่  ๓-๔  เม็ด
                   หรือหากบริเวณบ้านของคุณพอจะมีที่ว่างอยู่สักหน่อยก็ลองหา ฟ้าทะลายโจรมาปลูกกันดู ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชที่ขึ้นได้ง่ายสามารถปลูกได้ดีทุกสภาพ  แวดล้อม  ซึ่งเราสามารถใช้ส่วนใบของฟ้าทะลายโจรมากินสดได้เลยก็จะยิ่งดี


                                                               ขอขอบคุณ
                                                                         ที่มา :  นิตยสารสวนเกษตร และ
                                                                                   www.rspg.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น