วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ใบพลู

สารสกัดจากใบพลู ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา


                    ใบพลูเป็นของคู่กันกับหมากมาช้านาน คนไทยจึงเรียกว่าหมากพลูคู่กันเสมอ ปัจจุบันบทบาทของหมากพลูที่แพร่หลาย คือใช้เป็นเครื่องไหว้บูชาในงานพิธีสำคัญต่างๆ หรือใช้ไหว้พระไหว้เทพเจ้า การเคี้ยวหมากพลูกลายเป็นของต้องห้ามของคนไทยตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี มีการตัดต้นหมากและพลูทิ้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าเสียดายยิ่งนักเพราะหมากพลูไม่ได้ใช้ประโยชน์แค่นั้น แต่ยังเป็นยาที่มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะพลูนั้นใช้ประโยชน์ได้เสมือนยาสามัญประจำบ้าน ปลูกไว้มีแต่ได้ประโยชน์  นอกจากเป็นเครื่องเคี้ยวคู่กับหมากใช้ต้อนรับแขก ใช้เชื่อมสัมพันธ์พบปะสังสรรค์แล้ว ยังเป็นเครื่องบอกรักระหว่างหนุ่มสาว ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้หมากพลูไปแล้วอีกฝ่ายให้หมากพลูตอบกลับ แสดงว่ารักนั้นสมหวัง แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องดื่มน้ำบัวบกแทน


ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Piper betle Linn.

ชื่ออังกฤษ :  Betle vine, Betel Papper

ชื่อวงศ์ :  PIPERACEAE

ชื่ออื่นๆ :  พลูจีน(กลาง) บู (เหนือ) เปล้า อ้วน ซีเก๊ะ (มาเลย์-นราธิวาส) คื่อเจี่ย (แต้จิ๋ว)จวี้เจี้ยง (จีนกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
                    ลักษณะเป็นไม้เถา เนื้อแข็ง เลื้อยพันต้นไม้อื่น อาศัยรากฝอยที่แตกตามข้อเป็นเครื่องยึดเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ เนื้อใบหนาเป็นมัน มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว รสเผ็ดร้อน ดอกสีขาว ออกเป็นช่อแน่นบนแกนยาวคล้ายพริกไทย ก้านใบยาวติดกับลำต้น ใบมีสีเขียวเหลืองถึงเขียวเข้ม

การขยายพันธุ์ : 
โดยการปักชำด้วยเถายาวขนาด 3-5 ข้อ ชอบดินอุดมสมบูรณ์ที่มีการระบายน้ำที่ดี ชอบอากาศร้อนชื้นแต่ไม่ร้อนจัดนัก ปลูกได้ทุกภาคของประเทศ นิยมปลูกให้ขึ้นไปกับต้นทองหลาง


ส่วนที่ใช้ประโยชน์ :  ใบ

ประโยชน์และวิธีการใช้
               1.  ใบพลูเมื่อผสมกับปูนแดงและหมากใช้เป็นของเคี้ยวสำหรับผู้ที่กินหมาก ส่วนใหญ่พบมากแถวภาคกลางและภาคอีสาน คือ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก นครปฐม ขอนแก่น และนครราชสีมา ฯลฯ
               2.  ในใบพลู มีน้ำมันหอมระเหยมีสีน้ำตาลปนเหลืองและมีกลิ่นฉุน เรียกว่า น้ำมันพลู สารที่พบมากในน้ำมันพลูได้แก่ isoeugenol chavicol eugenol
               3.  น้ำมันและสารสกัดจากใบพลู มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิด นอกจากนี้ น้ำมันพลูและสารสกัดจากใบพลูด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ไดเอทิลอีเทอร์อีเทอร์ คลอโรฟอร์ม และเอทานอล มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค ได้แก่ Staphylococcus aureus, B-hemolytic Streptococcus group A มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังได้
               จากการที่สารสกัดจากใบพลูและน้ำมันพลูออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดีหลายชนิด จึงเป็นที่น่าสนใจหากมีการนำสารสกัดจากใบพลูและน้ำมันพลูไปใช้ประโยชน์ในด้าน Antiseptic แทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในปัจจุบัน ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้ ใบพลูยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่สำคัญคือ ธาตุฟลูโอไลด์ ซึ่งช่วยให้ผู้ที่เคี้ยวใบพลูมีสภาพฟันที่แข็งแรง
               4.  ใบพลู ได้ถูกนำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ในตำรายาไทย โดยมีสรรพคุณในด้านรักษาอาการปวดท้อง แก้ปวดฟัน รักษาอาการไอ เจ็บคอ และขับเสมหะ รักษาอาการผื่นคันเนื่องจากเกิดลมพิษ (นำมาใช้ตำผสมกับเหล้าโรงทาบริเวณที่เป็นลมพิษ หรือบริเวณที่แมลงกัดต่อย) รักษาโรคผิวหนัง รักษาโรคกลากเกลื้อน ฮ่องกงฟุต แผลอักเสบ ฝีหนอง และสิว กำจัดกลิ่นตัว
               5.  ในประเทศอินเดียมีการใช้น้ำคั้นจากใบพลูสดในการรักษาอาการเหล่านี้ คือ เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาระบายอาการท้องผูก ยาเจริญอาหาร ขับเสมหะ ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ
               6.  ขับลมในกระเพาะอาหาร ทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น เป็นยาสมานแผลและใช้ป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้ชาวอินเดียนิยมปลูกเพื่อใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับรักษาโรคต่างๆ และที่สำคัญ ใบพลูยังสามารถใช้ป้องกันมดขึ้นบ้านได้อีกด้วย โดยนำใบพลูมาตำแล้วถูขวางทางขึ้นบ้าน หรือนำเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เช่น ผักกาด หรือเมล็ดหอมน้อยที่มดชอบกินนั้น นำใบพลูตำให้ละเอียดคลุกกับเมล็ดพันธุ์ต่างๆ หว่านทิ้งไว้จะทำให้มดไม่มารบกวนอีกด้วย
               7.  ริดสีดวงทวาร โดยนำใบพลู 1 กำมือสับเป็นชิ้นเล็กๆ แช่น้ำประมาณ 10 ลิตร แช่นานประมาณ 1-2 วัน จากนั้นตักเอาน้ำมาครั้งละ 1-2 ลิตร มานั่งแช่หลังจากถ่ายตอนเช้า แช่น้ำประมาณ 10-20 นาที ทำทุกวันประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะรู้สึกดีขึ้น (น้ำที่แช่ใบพลูนั้นสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เสีย แต่น้ำที่ใช้แช่แล้วให้ทิ้งไป)
               8.  แก้ท้องอืดท้องเฟ้อและบำรุงกระเพาะ โดยนำใบพลูสด 2 ใบ ตำคั้นน้ำให้ได้สัก 1 ช้อนชา ผสมน้ำร้อนลงไปครึ่งถ้วย กินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และบำรุงกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์นั้นถือว่าใบพลูเป็นยาช่วยย่อยอาหารได้ดี ส่วนในประเทศอินเดียจะนำน้ำที่คั้นมาผสมกับยารักษาโรคท้องต่างๆ เช่น ท้องอืด ปวดท้อง ท้องร่วง เป็นต้น
               9.  แก้ปวดฟัน โดยนำก้านใบพลูมาทุบหรือบดให้แหลก หยดเหล้าโรงลงไป 4-5 หยด ใช้สำลีพันไม้จิ้มฟันจุ่มลงในน้ำยานำไปแยงรูฟันที่ผุ หรือเอาสำลีชุบน้ำยาอุดตรงบริเวณที่ปวด ทำติดต่อกัน 3-4 ครั้งภายในเวลาครึ่งชั่วโมง อาการปวดฟันจะทุเลาลงและหายปวด เพราะในใบพลูมีสาร ซาวิคอล ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ปวดฟันและยาชาอ่อนๆ และสารอีกชนิดหนึ่งคือ ยูกีนอล มีฤทธิ์ระงับปวดและยับยั้งเชื้อแบคทีเรียเช่นกัน
             10.  กำจัดกลิ่นตัว โดยนำใบพลูมาขยี้แล้วทาที่รักแร้หลังอาบน้ำ กลิ่นตัวจะค่อยๆ หายไป เพราะฤทธิ์ระงับเชื้อของใบพลูอาจจะช่วยระงับเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นตัวได้ ใบพลูอาจจะช่วยระงับเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นตัวได้
             11.  กำจัดกลิ่นปาก โดยใช้ใบพลูมาเคี้ยวไว้สักครู่แล้วจึงบ้วนทิ้ง นอกจากกลิ่นใบพลูจะกลบกลิ่นปากแล้ว ยังมีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก หากได้เคี้ยวใบพลูทุกเช้าและก่อนนอนแล้ว จะกำจัดกลิ่นปากได้และทำให้ลมหายใจหอมสดชื่นอีกด้วย
                                                                ขอขอบคุณ
                                                                       ที่มา :  การแพทย์แผนไทยกับการดูแลสุขภาพ
                                                                                 และ  www.organicthailand.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น