วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ขับพิษด้วยรางจืด

รางจืด สมุนไพรต้านพิษ
                    ภูมิปัญญาท้องถิ่นบางอย่างยังคงมีประสิทธิภาพในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้มิตรรักแฟนสมุนไพรได้รู้จักต้น “ รางจืด ” จึงขอแนะนำ และขอทำความเข้าใจว่า ต้นรางจืด หมายถึงต้นไม้ไม่น้อยกว่า 3 ชนิดที่คนไทยใช้เป็นสมุนไพร

                    รางจืดชนิดที่ 1 เป็น สมุนไพรที่มีการใช้กันมานานมากและเป็นที่รู้จักทั่วไป รางจืดชนิดนี้เป็นไม้เถาขนาดกลาง พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย ดอกของรางจืดจะคล้ายกับดอกของสร้อยอินทนิลเป็นอย่างมาก ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะคิดว่าเป็นไม้ชนิดเดียวกัน ข้อแตกต่างของเถารางจืดและสร้อยอินทนิลอยู่ที่ใบ คือ ขอบใบของเถารางจืดจะเรียบเรียวแหลมสู่ปลายใบ แต่ใบของสร้อยอินทนิลขอบใบหยักเป็นแฉก 3-4 แฉก เถารางจืดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia L. ส่วนสร้อยอินทนิลมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia grandiflora Roxb . จากชื่อวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าพืชสองชนิดนี้มีนามสกุลเดียวกัน พูดภาษาชาวบ้านคือต้องเป็นญาติสนิทกัน ในส่วนของสร้อยอินทนิลส่วนใหญ่ใช้เป็นไม้ประดับ และมีหลักฐานการใช้เป็นยาพื้นบ้านโดยใช้ส่วนของรากและเถาตำพอกแก้ฟกช้ำ แก้การอักเสบ ส่วนใบใช้ชงดื่มแก้ปวดท้อง รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ ตำพอกแก้โรคผิวหนัง
ส่วน เถารางจืดตามตำราโบราณใช้รากและเถาเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใบและน้ำคั้นจากใบสดนำมาใช้แก้ไข้ ถอนพิษ สำหรับภูมิปัญญาอีสาน มีประสบการณ์สืบต่อกันมาว่า เมื่อจะปรุงอาหารที่เก็บมาจากป่าทุกครั้งให้ใส่ใบและดอกของเถารางจืดเข้าไป ด้วย เพื่อป้องกันพิษที่อาจเกิดจากพืชหรือสัตว์ป่าที่นำมารับประทาน เถารางจืดจึงอยู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน


                   ขณะ นี้มีงานทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าเถารางจืดมีสรรพคุณ เกี่ยวกับสารต่อต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะส่วนของใบที่สกัดจากน้ำ และพูดได้ว่ารางจืดมีความเป็นพิษต่ำมาก อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ผู้ใช้จำนวนมาก ที่นิยมใช้เถารางจืดเป็นยาถอนพิษที่เกิดจากการดื่มเหล้าหรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “ แฮงค์โอเวอร์ ” นั้น ในเวลานี้การศึกษาสมัยใหม่แบบวิทยาศาสตร์ ยังไม่พบรายงานที่สามารถสนับสนุนความเป็นไปได้ในเรื่องนี้
                    รางจืดชนิดที่ 2 เรียกว่า รางจืดต้น เป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก เนื่องจากมีลำต้นสูงได้ถึง 2- 3 เมตร พืชชนิดนี้เป็นพืชต่างถิ่นที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ เข้าใจว่าไม่น่าจะเกิน 20 ปี พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของอเมริกาใต้ จึงพบเห็นพืชชนิดนี้ได้เฉพาะในรั้วบ้านเท่านั้น ในภาคอีสานนิยมปลูกไว้ตามหน้าบ้าน รางจืดต้นเป็นไม้ตระกูลถั่ว มีชื่อสามัญว่า Wooly Senna และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Senna hirsuta (L.) Irwin & Barneby ในตำราบางเล่มอาจพบเห็นว่าใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia hirsuta L. ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิม เมื่อมีข้อมูลเพิ่มขึ้นนักพฤกษศาสตร์จึงได้ย้ายมาใช้นามสกุลใหม่จาก Cassia มาเป็น Senna แทน
                    ใน หลายประเทศใช้พืชชนิดนี้เป็นอาหาร โดยใช้ส่วนของใบและผล แต่ทั้งสองส่วนนี้มีกลิ่นค่อนข้างรุนแรง จึงต้องทำให้สุกมาก ๆ กลิ่นจะหายไป ในชวาใช้สารสกัดจากใบรักษาโรคเริมต่าง ๆ ส่วนในลาวใช้เมล็ดคั่วปนลงไปกับเมล็ดกาแฟ ในอาฟริกาใช้เป็นพืชให้ร่มเงาในสวนกาแฟที่ยังมีขนาดเล็ก และใช้เป็นพืชปรับปรุงดินเป็นปุ๋ยพืชสด สำหรับรางจืดต้นในตำรายาสมุนไพรล้านนาของมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่ามีการ ใช้ใบหรือรากทำให้ร้อนผสมกับครั่ง แล้วบดเป็นผงละเอียด ทำเป็นยาลูกกลอน กินแก้ไข้ ชาวเขาเผ่าลีซอใช้ทั้งต้น ต้มดื่มหลังคลอด รากฝนกินแก้เบื่อเมา สำหรับคนอีสาน ได้ใช้รากฝนกินแก้พิษและเบื่อเมาทุกชนิดเช่นกัน
                    รางจืดชนิดที่ 3 เป็นชื่อที่หมอยาในจังหวัดชัยภูมิใช้เรียกพืชที่มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า มะหิ่งเม่น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crotalaria spectabilis Roth ssp. spectabilis รางจืดต้นชนิดนี้เป็นพืชในตระกูลถั่วเช่นเดียวกับชนิดที่ 2 แต่เป็นพืชล้มลุกอายุสั้นเพียงฤดูเดียว พบเห็นได้ทั่วไปตามที่โล่งแจ้ง
ความ รู้จากยาพื้นบ้านใช้รากต้มดื่มแก้ร้อนใน มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ว่าน้ำต้มทั้งต้นสามารถลดความดันในลูกตา ถ้าเป็นสกัดด้วยแอลกอฮอล์สามารถลดการเกร็งตัวของลำไส้ แต่ทั้งต้นมีพิษต่อตับของสัตว์ ถ้าวัวหรือสัตว์กินพืชกินเข้าไปมากจะก่อให้เกิดความเป็นพิษอย่างรุนแรง สำหรับรางจืดชัยภูมิชนิดนี้ไม่มีหลักฐานว่าใช้เป็นยาแก้พิษ หรือแก้เบื่อเมา แต่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมหมอยาพื้นบ้านจึงเรียกว่ารางจืดต้น ซึ่งคงต้องศึกษารวบรวมข้อมูลต่อไป
                   สำหรับ ผู้อ่านที่สนใจถอนพิษ หรือเจือจางพิษที่อยู่ในร่างกาย ขอแนะนำรางจืดชนิดแรก เนื่องจากหาได้ง่าย ปรุงเป็นเครื่องดื่มอุ่นรสชาติดี ปลูกก็ง่าย เป็นไม้ประดับดอกสีม่วงสวยงามดี เหมาะที่จะเป็นต้นไม้ประจำบ้านจ๊ะ. ดังนั้น จึงขอกล่าวถึงรายละเอียดของรางจืดชนิดแรกเพิ่มเติมน่ะค่ะ


ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Thumbergia laurifolia   Lindl.

วงศ์ :   Acanthaceae

ชื่ออื่น :  กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง เครือเขาเขียว ยาเขียว (ภาคกลาง) คาย รางเย็น  (ยะลา)  จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ดุเหว่า (ปัตตานี) ทิดพุด (นครศรีธรรมราช) น้ำนอง (สระบุรี) ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
               ไม้เลื้อย/ไม้เถา เนื้อแข็ง
               ใบ ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเว้า  มีเส้น 3 เส้นออกจากโคนใบ
               ดอก มีสีม่วงอมฟ้า ออกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบ ใบประดับสีเขียวประแดง กลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกสีเหลืองอ่อน เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 4 อันผล เป็นฝักกลม ปลายเป็นจะงอย เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก
ส่วนที่ใช้ :  ใบ ราก และเถาสด

สรรพคุณ : รางจืดที่มีประสิทธิภาพ คือรางจืดชนิดเถาดอกม่วง
                 รากและเถา - รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ
                 ใบและราก - ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง พิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง พิษจากดื่มเหล้ามากเกินไป หรือยาเบื่อชนิดต่างๆ เข้าสู่ร่างกายโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น ติดอยู่ในฝักผลไม้ที่รับประทาน เมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกล การนำส่งแพทย์ต้องใช้เวลา อาจทำให้คนไข้ถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีต้นรางจืดปลูกอยู่ในบ้าน ใช้ใบรางจืดไม่แก่ไม่อ่อนเกินไปนัก หรือรากที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป และมีขนาดเท่านิ้วชี้ มาใช้เป็นยาบรรเทาพิษเฉพาะหน้าก่อนนำส่งโรงพยาบาล (รากรางจืดจะมีตัวยามากกว่าใบ 4-7 เท่า) ดินที่ใช้ปลูก ถ้าผสมขี้เถ้าแกลบหรือผงถ่านป่น จะช่วยให้ต้นรางจืดมีตัวยามากขึ้น


วิธีใช้ :
               ใบสด  :  สำหรับคน 10-12 ใบ
                            สำหรับวัวควาย 20-30 ใบ
                    นำใบสดมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวครึ่งแก้ว คั้นเอาแต่น้ำดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจให้ดื่มซ้ำได้อีกใน 1/2 - 1 ชั่วโมงต่อมา
               รากสด  :  สำหรับคน 1-2 องคุลี
                              สำหรับวัวควาย 2-4 องคุลี
                    นำรากมาฝนหรือตำกับน้ำซาวข้าว  แล้วดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ   อาจใช้ซ้ำได้อีกใน 1/2 - 1 ชั่วโมง ต่อมา
                    กรณีที่ไม่มีน้ำซาวข้าวให้เอาข้าวสารมาตำหรือปั่นให้ละเอียดผสมลงไปก็ใช้ได้เช่นกัน
                
                    ชาวนาชาวไร่ และชาวสวน ที่ต้องใช้สารเคมีต่างๆเพื่อทำลาย เพลี้ย แมลง และวัชพืชต่างๆอยู่เป็นประจำ หรือผู้ที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ฆ่าแมลงอยู่เป็นประจำ สารเคมีเหล่านี้จะเข้าไปสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเจ็บไข้ ไม่สบายอยู่เป็นประจำ หากแต่ท่านเอาใบ หรือทั้งราก เถา ใบ ของต้นรางจืดมาดื่ม ครั้งละ 1 แก้วเต็มๆ กินเป็นประจำ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง หรืออย่างน้อยเดือนละครั้ง น้ำของรางจืดจะเข้าไปขับและทำลายสารพิษในร่างกายในหลอดลมและในลำไส้ให้สลายเป็นกลางไปโดยหมดสิ้น นอกจากนี้ในผู้ที่มีอาการเมาสุรา น้ำรางจืดนี้ก็สามารถรักษาอาการเมาสุราให้หายเป็นปลิดทิ้งได้เช่นกัน
                    ผู้ที่ได้รับสารพิษร้ายแรงทุกชนิดเข้าไป เมื่อรู้ว่าร่างกายได้รับอันตราย เจ็บป่วย มีอาการต่างๆหรือแทบจะเอาชีวิตไม่รอด และแม้แพทย์แผนปัจจุบันก็แทบหมดความสามารถในการรักษาเยียวยาได้แล้ว ให้ญาติของผู้ป่วยรีบหาต้นหรือเถารางจืด (หากอาการอยู่ในระยะแรกๆ พึงทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเสียก่อน จึงทำยานี้ให้กิน) มาครั้งละ ประมาณ 1 กิโลกรัม ใส่น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน จึงให้ผู้ป่วยกินให้หมดในครั้งเดียว
                    หรือจะเอาเถารางจืดทั้ง 5 มา 1 กิโลกรัม  ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวคั้นกรองเอาแต่น้ำกินให้หมดในวันเดียว วันละ 1 ครั้ง จึงทำใหม่ให้กินติดต่อกัน 2-3 วัน อาการเจ็บป่วยอย่างหนักจากสารพิษต่างๆจะค่อยๆหายเป็นปกติอย่าน่าอัศจรรย์

คำเตือน :  การใช้รางจืดสำหรับถอนพิษยาฆ่าแมลง ยาพิษและสตริกนินนั้น ต้องใช้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จำทำได้ จึงจะได้ผลดี ถ้าพิษยาซึมเข้าสู่ร่างกายมากแล้ว หรือทิ้งไว้ข้ามคืน รางจืดจะได้ผลน้อยลง
                                                       ขอขอบคุณ
                                                               ที่มา :  http://www.thaihof.org,
                                                                         http://www.rspg.or.th และ
                                                                         http://www.ttmed.psu.ac.th/read.php?31

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น